รายละเอียดอีบุ๊ค

  • องค์ประกอบของการแสดงนาฏศิลป์ไทย

องค์ประกอบของการแสดงนาฏศิลป์ไทย

หมวดหลัก กลุ่มสาระฯ ศิลปะ
ผู้จัดทำ Vivatchai Chutintararauk

เนื้อหาอีบุ๊ค

องค์ประกอบของการแสดงนาฏศิลป์ไทย

 

องค์ประกอบที่ทำให้นาฏศิลป์ไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีความสวยงามโดดเด่น และบ่งบอกถึงความมีอารยะธรรมทางด้านศิลปะ มาแต่อดีตกาล   คือ  ลีลาท่ารำ  การขับร้องเพลงไทย  ดนตรีไทย  และการแต่งกาย  ดังนี้

             1. ลีลาท่ารำ หมายถึง กระบวนการเคลื่อนไหวของอวัยวะร่างกายของนักแสดงสื่อออกมาในลักษณะต่าง ๆ เช่น สื่อแทนคำพูด แทนอากัปกิริยาที่กำลังปฏิบัติอยู่ หรือสื่อถึงกิจกรรมที่เป็นเป้าประสงค์สำหรับการทำงาน เป็นต้น ท่ารำที่เข้ามามีบทบาทต่อการแสดงนั้นมาจากหลายแหล่ง เช่น นาฏยศัพท์ ภาษาท่าทางนาฏศิลป์ และการตีบท กล่าวคือ

                   1.1 นาฏยศัพท์ หมายถึง ศัพท์ที่ใช้เรียกท่ารำทางนาฏศิลป์ หรือการละคร การฟ้อนรำ การสร้างสรรค์ท่ารำที่เกี่ยวข้องกับนาฏศิลป์ไทย ผู้แสดงจำเป็นต้องเข้าใจกระบวนการร่ายรำอันจะส่งผลถึงความประณีตของท่วงท่าที่สร้างสรรค์ของศิลปินที่งดงามลงตัวนาฏยศัพท์ที่บรมครูผู้เชี่ยวชาญได้สร้างสรรค์ไว้พอจะรวบรวมได้คือ นามศัพท์ กิริยาศัพท์ และนาฏยศัพท์เบ็ดเตล็ด

                   1.2 ภาษาท่าทางนาฏศิลป์ หมายถึง ภาษาที่ใช้สำหรับการสื่อสารของนักแสดงเพื่อให้เข้าใจโดยใช้ท่าทางนาฏศิลป์เป็นตัวสื่อไม่ใช้คำพูด เป็นอวจนะภาษาอย่างหนึ่ง หรืออีกนัยหนึ่งนั้นคือภาษาใบ้ ส่วนใหญ่จะใช้อากัปกิริยาของอวัยวะร่างกายเป็นตัวสื่อสารเพื่อบอกอาการความต้องการให้ผู้รับสารเข้าใจในการสื่อสาร ภาษาท่าทางนาฏศิลป์มีปรากฏอยู่ในการแสดงละคร  หรือบทระบำของละครไทยบางเพลง

            กิริยาท่าทางที่ปรากฏออกมาทางอวัยวะของร่างกาย  สีหน้าและอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นมา  สามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ ท่าซึ่งใช้แทนคำพูด ท่าซึ่งเป็นอิริยาบถและกิริยาอาการ และท่าซึ่งแสดงถึงอารมณ์ภายใน

                   1.3 การตีบท หมายถึง การใส่ท่าทางตามบทร้องหรือบทเพลงเพื่อสื่อความหมายให้ผู้ชมเข้าใจตามความหมายและอารมณ์ของเพลง โดยทั่วไปเพลงที่จะนำมาประดิษฐ์ท่ารำจะต้องมี 2 ลักษณะ  คือเพลงบรรเลง หมายถึง เพลงที่มีแต่ทำนองและจังหวะ ไม่มีเนื้อร้องประกอบ และเพลงมีบทร้อง หมายถึง เพลงที่มีทั้งทำนอง จังหวะ และเนื้อเพลงบรรยายอิริยาบทของตัวละครประกอบด้วย กรณีที่เพลงเป็นเพลงบรรเลงนั้นนักนาฏยประดิษฐ์ก็จะลดภาระของการใส่ท่ารำลง แต่ถ้าหากว่าเป็นเพลงที่ต้องใช้บทร้องประกอบ เช่น  เพลงแม่บท เพลงกฤดาภินิหาร หรือจะเป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ในโอกาสอันสมควร กล่าวคืออวยพรในโอกาสที่สำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานมงคล หรืองานในโอกาสพิเศษอื่น ๆ ถ้าหากบทเพลงมีเนื้อร้องก็เป็นความจำเป็นที่จะต้องใช้การตีบทมาเกี่ยวข้องด้วยเช่นเดียวกัน